ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

สัมผัส“มุกดาหาร”ประตูทองหน้าด่านการค้าโลก

สัมผัส“มุกดาหาร”ประตูทองหน้าด่านการค้าโลก
ไฮไลท์…
– หลังจากรัฐบาลไทยมีนโยบายพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน หวังส่งเสริมการค้าและการลงทุนในอนาคต
– รัฐบาลจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนขึ้นใน 10 จังหวัด อันได้แก่ ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา เชียงราย หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาส
– จังหวัด “มุกดาหาร” เป็นท่าเรือบก เปิดประตูตะวันออกสู่อาเซียนเชื่อมการค้าโลก
[สกู๊ปพิเศษ] เนื่องจากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกได้ชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดหลักทั้ง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ดังนั้นไทยจึงหันมาให้ความสำคัญกับการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน อาเซียนเป็นตลาดการค้าหลักที่สำคัญของไทย โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา ไทยมีการค้ากับอาเซียนรวม 3.21 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22% ของมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับโลก
หลังจากทางรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะช่วยในการลดข้อจำกัดทางการค้า และเพิ่มอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศในอาเซียนมีความน่าสนใจในการทำการค้าและการลงทุนมากยิ่งขึ้น รัฐบาลจึงได้วางยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยมีบทบาท และใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจการค้าของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทั้งในเรื่องความเชื่อมโยงด้านระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ ด้านกฎระเบียบ การอำนวยความสะดวกทางการค้า การพัฒนาด่านการค้าชายแดน และการเตรียมการด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งจะส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสของประเทศไทยในประชาคมอาเซียนให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนชาวไทยร่วมกับประชาชนอาเซียน
ขณะเดียวกัน ทางรัฐบาลไทยมีนโยบายจะพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการค้าและการลงทุน และที่สำคัญเพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงได้มีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนขึ้นใน 10 จังหวัด อันได้แก่ ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา เชียงราย หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาส
อะไรคือ จุดแข็งของจังหวัด “มุกดาหาร”
จังหวัดมุกดาหารเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและโอกาสทางการค้าและการลงทุนสูง เพราะติดกับสปป.ลาว ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวสูงขึ้นทุกปี โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2560 ไทย-สปป.ลาว มีมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างกันกว่า 65,000 ล้านบาท ขยายตัว 0.35% โดยมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทย – สปป.ลาว คิดเป็นสัดส่วนถึง 97% ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของทั้งสองประเทศ และหากพิจารณาเป็นรายจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับสปป.ลาว จะพบว่ามูลค่าการค้าชายแดนไทย – สปป.ลาว ที่สูงที่สุดในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2560 นั้น จะอยู่ที่จังหวัดมุกดาหาร โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 20,000 ล้านบาท
mukdahan02
ดังนั้น การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร และผลักดันให้จังหวัดมุกดาหารเป็นท่าเรือบก ประตูตะวันออกสู่อาเซียนนั้น จึงเปรียบเสมือนเป็นการเปิดประตูเพื่อเชื่อมโยงจังหวัดมุกดาหารกับประเทศอื่นๆ ตามเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจในภูมิภาคที่สำคัญๆ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อช่วยส่งเสริมการค้า และการลงทุนของจังหวัดให้มีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ไทยเปรียบเสมือน “ประตูสู่อาเซียนของจีน”
นอกจากนี้ จังหวัดมุกดาหารยังเป็น “ท่าเรือบก” ประตูตะวันออกสู่อาเซียน บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) แล้วนั้น จากนโยบาย One Belt, One Road ของจีนที่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงจีนกับอีก 64 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทยเข้าไว้ด้วยกันภายใต้การเชื่อมโยงทั้งทางบกและทางทะเล โดยไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีจุดภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางของอาเซียน ครอบคลุมถึง 7 ประเทศในอาเซียนที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ทางถนน ไทยจึงมีความได้เปรียบอย่างมากเนื่องจากเส้นทางในระเบียงเศรษฐกิจ เช่น East-West และ North-South Economic Corridor ก็ล้วนแล้วแต่จะต้องผ่านไทยด้วยกันทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้เองไทยจึงเปรียบเสมือน “ประตูสู่อาเซียนของจีน” ในขณะที่ไทยเองก็ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ผ่านนโยบายดังกล่าวของจีน เนื่องจากจีนเป็นตลาดที่ใหญ่และมีกำลังซื้อสูง
Mukdaharn
อย่างไรก็ตาม จังหวัดมุกดาหารสามารถใช้โอกาสจากความได้เปรียบในเชิงกายภาพ ในการเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ One Belt, One Road ของจีน โดยอาศัยการเชื่อมโยงทางถนนระหว่างระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก – ตะวันออก กับระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ซึ่งสามารถเชื่อมไปยังจีนตอนใต้ได้อย่างสะดวก นอกจากนั้นมุกดาหารยังมีศักยภาพในการเป็นจุดเชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) รวมทั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทยในพื้นที่จังหวัดข้างเคียง ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารและเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวันเซ-โน สามารถพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและเจริญเติบโตควบคู่ไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
ดันมุกดาหารชูศักยภาพด้านโลจิสติกส์
ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกของไทยเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะการนำเข้าและนำผ่านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อไปประกอบที่โรงงานในเขตเศรษฐกิจสะหวันเซ-โน แล้วส่งออกไปยังประเทศที่สามโดยผ่านเส้นทางจังหวัดมุกดาหารไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ดังนั้นการที่จังหวัดมุกดาหารผลักดันให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านระบบโลจิสติกส์ การก่อสร้างทางรถไฟ รวมทั้งการขยายถนน 4 เลนหรืออื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ก็จะส่งผลให้ผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศได้รับผลประโยชน์ร่วมกันด้วย

ความคิดเห็น